วันอาทิตย์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2553

ผึ้งไทย




ผึ้ง เป็นแมลงที่คุ้นเคยกับมนุษย์มากที่สุด ผึ้งเป็นสัตว์ชนิดแรก ที่สอนให้มนุษย์รู้จักกับรสหวานตามธรรมชาติ สิ่งนั้นคือ น้ำผึ้ง นั้นเอง
หลักฐานทางโบราณคดี ทำให้เรารู้ว่ามนุษย์ในสมัยโบราณรู้จักใช้คบไฟไล่ผึ้ง เพื่อเก็บน้ำผึ้งอย่างน้อยที่สุดก็เมื่อเวลาประมาณ 7,000 ปีล่วงมาแล้ว นับจากนั้นเป็นต้นมา ในขณะที่อารยะธรรมของมนุษยชาติค่อยเจริญรุ่งเรืองขึ้น มนุษย์พยายามใช้ประโยชน์จากแมลงชนิดนี้มาตลอดเวลา
เชื่อกันว่าน้ำผึ้งเป็นอาหารให้ความหวานที่เก่าแก่ที่สุดชนิดเดียวก่อนที่มนุษย์จะรู้จักปลูกพืชเพื่อผลิตน้ำตาล เมรัย หรือเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ชนิดแรกที่คนรู้จัก ได้มาจากการทำน้ำผึ้งให้เจือจางแล้วนำไปหมักด้วยเชื้อส่า ไขผึ้งถูกนำไปใช้ทำเทียนให้แสงสว่างในยามค่ำคืนมานานนับเป็นพันๆปีก่อนที่มนุษย์จะรู้จักใช้ตะเกียงน้ำมัน นอกจากนั้น ประวัติสาสตร์ยังระบุไว้ว่าในการรบพุ่งระหว่างบางชนชาติ ในสมัยโบราณกาลบางครั้งก็มีการใช้รังผึ้งทุ่มเข้าใส่หมู่ศัตรู ฯลฯ
ปัจจุบัน ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และวิทยาการต่างๆมีผลทำให้วิถีชีวิตของมนุษย์เหินห่างจากธรรมชาติมากขึ้นทุกที แต่ความสำคัญของผึ้งที่มีต่อมนุษย์ชาตินั้นไม่ได้ด้อยลงไป ตรงกันข้าม ความรู้ทางชีววิทยาของผึ้ง และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการเลี้ยงผึ้งมีผลทำให้บทบาทและความสำคัญของผึ้งที่มีต่อมนุษย์เพิ่มมากขึ้น น้ำผึ้งยังคงเป็นอาหารบริสุทธิ์จากธรรมชาติที่ชนทุกเผ่าทุกภาษานิยมรับประทาน ความจำเป็นที่ต้องผลิตอาหารเพิ่มขึ้นเพื่อเลี้ยงประชากรโลก ทำให้วงการเกษตรกรรมต้องหันไปใช้ประโยชน์จากผึ้ง เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตด้วยการผสมเกสรพืชให้ติดผลติดเมล็ด ผึ้งกลายเป็นสัตว์ทดลองอย่างดี ที่ช่วยทำให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจกลไกของธรรมชาติที่ควบคุมระบบสังคมสัตว์ ฯลฯ
สังคมผึ้ง
สังคมผึ้ง จะมีการแบ่งเป็น 3 วรรณะ ซึ่งมีหน้าที่ต่างกันคือ
1. ผึ้งนางพญา (Gyne) รังผึ้ง 1 รัง จะมีผึ้งนางพญาเพียงแค่ 1 ตัวเท่านั้น มีหน้าที่ผสมพันธุ์เพื่อวางไข่ และควบคุมสังคมของผึ้งภายในรังให้อยู่ในสภาพปกติ ลักษณะของผึ้งนางพญาจะมีขนาดใหญ่และลำตัวยาวกว่าผึ้งทุกวรรณะ ความยาวปีกคลุมส่วนท้องได้ประมาณกึ่งหนึ่ง ลำตัวยาวรีมีขนอ่อนปกคลุมทั่วไป ผึ้งนางพญาที่อายุมากลำตัวจะเลี่ยนมัน เพราะเส้นขนหลุดร่วง

2. ผึ้งตัวผู้(Drone)ู้ จะมีขนาดใหญ่และตัวอ้วนกว่าผึ้งนางพญาและผึ้งงาน แต่จะมีความยาวน้อยกว่าผึ้งนางพญา เราจะพบเห็นผึ้งตัวผู้ในรังผึ้ง ก็ช่วงฤดูผสมพันธุ์ของรังผึ้งเท่านั้น ผึ้งตัวผู้เป็นผึ้งที่อ่อนแอไม่สามารถที่จะทำงานอะไรได้ แต่ภารกิจสำคัญของผึ้งตัวผู้คือมีหน้าที่ในการผสมพันธุ์ ซึ่งกระทำได้ครั้งเดียวในชีวิตก็จะตายในทันที




3. ผึ้งงาน (Worker bee) จะเป็นผึ้งเพศเมียทั้งหมดและมีจำนวนมากที่สุดในรัง ตัวมีขนาดเล็ก มีหน้าที่ในการหาอาหาร ป้อนอาหารผึ้งนางพญา ทำความสะอาดและป้องกันรัง ดังนั้น การที่รังผึ้งจะดำรงเป็นปกติได้ จำเป็นต้องมีผึ้งงานอยู่อย่างน้อยที่สุดจำนวนหนึ่งๆเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่างๆในสังคม เพื่อไม่ให้ภารกิจต่างๆของสังคมต้องหยุดชะงัก โดยธรรมชาติผึ้งงานจะมีอายุเพียงแค่ 7-8 สัปดาห์เท่านั้น



หน้าที่ของผึ้งแต่ละประเภท
ผึ้งนางพญา
1.    วางไข่
2.    ควบคุมสังคมให้อยู่ในสภาพสมดุลด้วยการผลิตสารเคมีออกมาแล้วปล่อยออกไปทั่วบรรยากาศภายในรัง
3.    ผสมพันธุ์
ผึ้งงาน
1.    สร้างและซ่อมแซมรวง รวมทั้งทำความสะอาดรัง
2.    หาอาหาร ได้แก่ เกสรและน้ำหวาน
3.    เก็บหาวัสดุอื่นๆเพื่อใช้ยามจำเป็น ได้แก่ น้ำและยางไม้
4.    ป้อนอาหารให้ผึ้งนางพญา ผึ้งตัวผู้ และตัวอ่อนผึ้ง
5.    ป้องกันรัง
6.    ถ่ายทอดสารเคมีจากผึ้งนางพญาให้กระจายทั่วรัง
7.    ควบคุมอุณหภูมิภายในรัง
8.    ควบคุมอัตราวางไข่ของผึ้งนางพญา
ชนิดของผึ้ง
ผึ้งในสกุล เอพีส เป็นผึ้งที่เก็บสะสมน้ำหวานปริมาณค่อนข้างมากในรัง มีทั้งหมดอยู่ 4 ชนิด ผึ้ง 3 ชนิดแรกได้แก่ ผึ้งหลวง ผึ้งมิ้ม และผึ้งโพรง เป็นผึ้งพื้นเมืองในแถบเอเชียใต้ ส่วนผึ้งชนิดที่ 4 คือ ผึ้งพันธุ์ เป็นผึ้งพื้นเมืองของทวีปยุโรปและทวีปแอฟริกา
1.  ผึ้งหลวง (Apis dorsata F.) เป็นผึ้งพื้นเมืองชนิดหนึ่งของไทยและประเทศอื่นๆ ทางคาบสมุทรอินเดียและเอเซียอาคเนย์ มีขนาดตัวใหญ่ มีท้องเป็นปล้องสีเหลืองและดำ

ผึ้งหลวงจะสร้างรังประกอบด้วยรวงเพียงรวงเดียวห้อยจากกิ่งไม้ หน้าผา หรือชายคาบ้าน รวงของผึ้งหลวงมีขนาดใหญ่ บางครั้งกว้างเกินกว่า 1 เมตร ประชากรส่วนใหญ่ของผึ้งงานของผึ้งหลวงทำหน้าที่ในการป้องกันรังด้วยการแขวนตัวเป็นม่านปกคลุมรัง
ผึ้งหลวงเป็นผึ้งชนิดหนึ่ง ที่เราไม่สามารถนำมาเลี้ยงในภาชนะหรือเลี้ยงในอุตสาหกรรมการเลี้ยงผึ้งได้ เพราะผึ้งงานของผึ้งหลวงจำเป็นที่จะต้องเห็นดวงอาทิตย์ หรือท้องฟ้าในขณะที่มันเต้นรำเพื่อที่จะส่งข่าวสารเรื่องตำแหน่งของอาหารได้อย่างถูกต้อง

2. ผึ้งมิ้ม (Apis florea F.) แบ่งออกเป็นผึ้งมิ้ม และผึ้งมิ้มเล็ก
ผึ้งมิ้ม มีขนาดตัวเล็กกว่าผึ้งหลวงและผึ้งโพรง ขนาดของลำตัวใหญ่กว่าแมลงวันบ้านเล็กน้อย มีท้องปล้องแรกสีเหลือง ที่เหลือเป็นปล้องสีดำสลับขาวชัดเจน พบอยู่ทั่วไป ชอบตอมขนมหวาน


ผึ้งมิ้มเป็นผึ้งที่สร้างรังประกอบด้วยรวงเพียงรวงเดียว รูปทรงกลมหรือรี ขนาดรังไม่ใหญ่นัก แขวนห้อยอยู่ตามสุมทุมพุ่มไม้ อยู่กลางแจ้งในธรรมชาติ ประชากรส่วนใหญ่ขิงผึ้งงานในรังผึ้งมิ้มจะถูกใช้ในการป้องกันรักษารัง ด้วยการแขวนตัวมันติดกันเป็นแผงคลุมรวงผึ้งทั้งรวง มีผึ้งงานส่วนน้อยเท่านั้นที่ออกไปหาอาหาร ทำให้ผลผลิตน้ำผึ้งต่อรังมีน้อย
ผึ้งมิ้มเป็นผึ้งอีกชนิดที่มนุษย์ไม่สามารถนำมาเลี้ยงในอุตสาหกรรมการเลี้ยงผึ้ง เพราะต้องอาศัยดวงอาทิตย์ในการส่งข่าวสารเช่นเดียวกันกับผึ้งหลวง

ผึ้งมิ้มเล็ก จัดเป็นผึ้งที่เล็กที่สุดในโลก มีท้องปล้องแรกสีดำ ส่วนท้องปล้องที่เหลือเป็นสีขาวสลับดำเป็นผึ้งที่หายาก พบเฉพาะในบริเวณป่าละเมาะใกล้ภูเขาเท่านั้น

ลักษณะรังมีชั้นเดียวบอบบางและเล็กกว่ารังของผึ้งมิ้ม คือ มีขนาดเท่าผ่ามือผู้ใหญ่เท่านั้น ผึ้งมิ้มเล็กมักจะปกปิดรังของมันอยู่ในซุ้มไม้และกิ่งไม้เพื่อพรางตาป้องกันศัตรูเหมือนกับผึ้งมิ้ม แต่ปกปิดมิดชิดกว่า บางท้องถิ่นเรียกว่า "ผึ้งม้าน" ผึ้งมิ้มเล็ก เป็นผึ้งที่จำเป็นต้องอนุรักษ์ เพราะมีเหลืออยู่เพียงเล็กน้อยในประเทศไทย เนื่องจากเป็นผึ้งที่ไม่ดุและต่อยไม่ เจ็บปวดเหมือนผึ้งชนิดอื่นๆ จึงถูกล่าตีหรือเผารังเพื่อนำน้ำผึ้งมากินได้ง่าย
2.  ผึ้งโพรง (Apis cerana F.) หรือ ผึ้งโพรงไทย มีขนาดตัวใหญ่กว่าผึ้งมิ้มแต่เล็กกว่าผึ้งหลวง ลำตัวมีสีน้ำตาลสลับเหลืองเป็นปล้อง ๆ ที่ท้อง


ผึ้งชนิดนี้ในธรรมชาติ จะทำรังด้วยการสร้างรวงซ้อนกันเป็นหลืบๆ อยู่ในโพรงไม้ หรือ โพรงหิน ที่มีปากทางเข้าค่อนข้างเล็ก แต่ภายในมีที่กว้างพอให้ผึ้งสร้างรวงได้ ทำให้ผึ้งโพรงกลายเป็นผึ้งเลี้ยงของเอเซีย แต่ผึ้งโพรงมีข้อเสีย คือ ผึ้งโพรงเป็นผึ้งที่เก็บสะสมน้ำผึ้งไว้ในรังในปริมาณน้อย และมีพฤติกรรมที่มักจะทิ้งรังไปหาที่อยู่ใหม่ ถ้าในบริเวณที่ตั้งของรังเดิมมีสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น อาหารขาดแคลน มีโรค ฯลฯ
3.  ผึ้งพันธุ์ (Apis mellifera F.) หรือ ผึ้งโพรงฝรั่ง คือ ผึ้งพื้นเมืองของทวีปแอฟริกาและยุโรป มีพฤติกรรมในการทำรังเช่นเดียวกับผึ้งโพรง คือ ทำรังเป็นรวงซ้อนกันเป็นหลืบๆ อยู่ภายในโพรงไม้ธรรมชาติ

เนื่องจากผึ้งพันธุ์เป็นผึ้งที่มีการสะสมปริมาณน้ำผึ้งไว้ในรังจำนวนมาก อีกทั้งยังมีพฤติกรรมในการทิ้งรังได้อยากกว่าผึ้งโพรง จึงเป็นผึ้งที่นิยมเลี้ยงในอุตสาหกรรมการเลี้ยงผึ้งมากกว่าผึ้งโพรง
รวงผึ้ง (Comb)
รวงผึ้ง (Comb) คือ สิ่งที่แม่งานสร้างจากไขผึ้ง เพื่อเป็นที่ให้ผึ้งนางพญาวางไข่ที่จะ พัฒนาผ่านขั้นตอนต่างๆของขบวนการเจริญเติบโตจนกลายเป็นผึ้งตัวเต็มวัย อีกทั้งรวงผึ้งยังเป็นที่ซึ่งผึ้งงานใช้เก็บสะสมอาหารอันได้แก่ เกสรและน้ำผึ้งด้วย รวงผึ้งแต่ละรวงประกอบด้วย หลอดรวงรูป 6 เหลี่ยมด้านเท่า สร้างติดต่อกันเป็นแนว หลักสำคัญที่ทำให้กิจกรรมการเลี้ยงผึ้งพันธุ์ได้ถูกพัฒนารุดหน้าไป ก็เพราะมนุษย์สามารถชักนำให้ผึ้งสร้างรวงภายในกรอบไม้หรือคอนที่แขวนเรียงกันอยู่ในหีบเลี้ยง ซึ่งเป็นภาชนะที่ออกแบบขึ้นเป็นที่อาศัยของผึ้ง


หลอดรวง (cells) มีลักษณะเป็นช่อง 6 เหลี่ยมซึ่งผึ้งสร้างจากไขผึ้ง เพื่อเป็นที่สำหรับให้ผึ้งนางพญาวางไข่ และเป็นที่อยู่ของตัวอ่อนที่ฟักจากไข่ ได้แก่ ตัวอ่อนของผึ้งงาน และผึ้งตัวผู้ หลอดรวงจำนวนหนึ่งถูกใช้เป็นที่เก็บสะสมน้ำผึ้งและเกสร ส่วนหลอดรวงที่เป็นที่อยู่ของตัวอ่อนของผึ้งนางพญานั้นรูปทรงยาวรี ผิวขรุขระคล้ายเมล็ดถั่วลิสงที่ไม่ได้ปอกเปลือก หลอดรวงเก็บน้ำผึ้งจะอยู่บนสุด เราเรียกว่า หัวรวงหรือหัวน้ำผึ้ง
ผลิตภัณฑ์จากผึ้ง
1.น้ำผึ้ง (Honey)
คำจำกัดความของน้ำผึ้ง คือ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากรวงผึ้ง เกิดขึ้นจากการที่ผึ้งงานบินไปดูดน้ำต้อยจากต่อมน้ำหวานของต้นพืช หรือน้ำหวานที่ผลิตออกมาโดยแมลงจำพวกเพลี้ย แล้วนำกลับมาสะสมไว้ในรังผึ้ง ทำการบ่มจนของเหลวนั้นมีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและทางเคมี มีความเข้มข้นสูงจนในที่สุดจะมีปริมาณน้ำเหลืออยู่ร้อยละ 20 ของน้ำหนัก และไม่ควรสูงกว่านั้น มีปริมาณแร่ธาตุ ไวตามิน และกรดอะมิโนอยู่ในจำนวนน้อย

ในขบวนการเก็บน้ำหวานจากธรรมชาติ ผึ้งงานจะดูดน้ำหวานสะสมไว้ภายในตัวมัน ในอวัยวะที่เรียกว่า "กระเพาะน้ำหวาน" เป็นส่วนหนึ่งของลำไส้ที่แปรสภาพไปเป็นถุง โดยในแต่ละเที่ยวบิน ผึ้งงานจะดูดน้ำหวานจากดอกของพืชชนิดใดชนิดหนึ่งเท่านั้น
ผึ้งงานจะมีระบบประสาทสัมผัสที่มีประสิทธิภาพ สามารถรับรู้ความแตกต่างในเรืองความหวานของน้ำหวานจากดอกไม้ต่างชนิดกันได้ ถ้าในอาณาเขตบริเวณที่ผึ้งงานหากิน มีพืชมากกว่า 1 ชนิด ผึ้งงานจะบินไปหากินกับพืชดอกที่มีความหวานมากกว่า เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการหาอาหาร เพราะว่าการบินออกหาอาหารผึ้งงานต้องใช้พลังงานซึ่งเกิดจากการเผาผลาญน้ำผึ้งหรืออาหารสำรองไปส่วนหนึ่ง ดังนั้นถ้ามันดุดน้ำหวานที่มีคุณภาพสูง ก็จะได้ผลคุ้มในแง่ของพลังงานที่อยู่ในรูปของน้ำหวานที่เก็บมาได้ และในการบ่มน้ำหวานนั้นให้เข้มข้นจนกลายเป็นน้ำผึ้ง ผึ้งงานในรังก็จะสูญเสียพลังงานเป็นส่วนน้อยในการทำให้น้ำระเหยออกจากน้ำหวาน แต่ถ้าน้ำหวานที่ดูดมามีคุณภาพด้อย คือความหวานเจือจาง ผึ้งงานต้องใช้พลังงานมากในการที่จะทำให้น้ำหวานนั้นระเหยน้ำออกไปจนเข้มข้นกลายเป็นน้ำผึ้ง

ความแตกต่างของน้ำผึ้งตามชนิดของพืชอาหาร
น้ำหวานที่ผึ้งปล่อยออกมาจากต่อมน้ำหวานของพืชแต่ละชนิดจะมีรส กลิ่น สี แตกต่างกันออกไปเฉพาะตัว น้ำผึ้งที่เก็บเกี่ยวจากรังผึ้งในแต่ละสถานที่ แต่ละช่วงเวลา เราสามารถจำแนกได้ว่าน้ำผึ้งนั้นมาจากพืชอาหารชนิดใดได้ เช่น น้ำผึ้งจากดอกลิ้นจี่ น้ำผึ้งจากดอกส้ม น้ำผึ้งจากดอกลำไย ฯลฯ
นอกจากนี้ น้ำผึ้งจากดอกไม้ต่างชนิดกัน มีองค์ประกอบของน้ำตาลแตกต่างกันไปด้วย สัดส่วนของน้ำตาลเลวูโลส น้ำตาลเดกโทรส น้ำตาลมอลโทส และน้ำตาลชนิดอื่นจะผิดแผกกัน ซึ่งอาจมีผลถึงความแตกต่างด้านคุณสมบัติทางกายภาพของน้ำผึ้ง เช่นน้ำผึ้งจากดอกไม้บางชนิดอาจตกผลึกได้ยาก เช่น น้ำผึ้งจากดอกลำไย แต่น้ำผึ้งบางชนิดตกผลึกได้ง่ายเมื่อกระทบความเย็น เช่น น้ำผึ้งจากดอกลิ้นจี่ เป็นต้น

ลักษณะของน้ำผึ้งที่ดี
น้ำผึ้งที่ดีจะต้องเป็นน้ำผึ้งที่ผ่านกรรมวิธีเก็บจากรังผึ้งอย่างถูกต้อง โดยจะต้องเป็นน้ำผึ้งที่ได้รับการบ่มจนข้นได้ที่แล้ว และผ่านขบวนการเก็บที่สะอาด ปราศจากการ สิ่งเจือปนต่างๆ จากชิ้นส่วนรังผึ้ง และจากตัวผึ้งซึ่งจะพิจารณาดูได้จากลักษณะของน้ำผึ้งซึ่งจะต้องข้น มีความหนืดพอสมควร ไม่ว่าน้ำผึ้งนั้นจะมีสีเข้มหรือสีอ่อน แต่จะต้องเป็นสีใสไม่ขุ่นทึบ ที่ผิวของน้ำผึ้งที่บรรจุอยู่ภายในภาชนะควรปราศจากฟองอากาศ และต้องไม่มีเศษซากวัสดุต่าง ๆ แขวนลอยอยู่ การที่น้ำผึ้งมีฟองอากาศอยู่มาก และมีลักษณะเหลว ถ้าเปิดภาชนะดมดูมีกลิ่นบูดเปรี้ยวแสดงว่าน้ำผึ้งนั้นบูดแล้ว โดยามีเชื้อส่าทำปฏิกิริยาเปลี่ยนน้ำผึ้งบางส่วนไปเป็นแอลกอฮอล์ เห็นได้ชัดจากฟองอากาศที่มีอยู่มากบริเวณของน้ำผึ้ง ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาของส่านั้นเอง น้ำผึ้งที่ดีควรมีรสหวาน หอม ไม่ขมเฝื่อน ไม่มีรสหรือกลิ่นไหม้ที่แสดงว่าน้ำผึ้งนั้นได้รับความร้อนสูงเกินไปในขบวนการเก็บหรือบรรจุ
ในบางครั้ง น้ำผึ้งที่ดีแต่ถูกเก็บไว้นานในที่เย็น หรือน้ำผึ้งจากดอกไม้บางชนิดอาจตกผลึกเป็นตะกอนนอนก้นอยู่ ก็อย่าเข้าใจผิดว่าน้ำผึ้งนั้นเสีย ซึ่งสามารถแก้ไขให้กลับคืนสภาพเดิมได้ง่าย โดยนำภาชนะที่บรรจุน้ำผึ้งที่ตกผลึกนั้นไปแช่ในอ่างน้ำอุ่น ผลึกน้ำผึ้งก็จะละลาย แต่ผู้บริโภคบางรายนิยมรับประทานน้ำผึ้งที่ตกผลึก เพราะมีรสชาติอีกแบบหนึ่งต่างหาก และง่ายต่อการตักรับประทาน ด้วยไม่ค่อยจะหกหรือหยดเรี่ยราด จนถึงกับทำให้บางบริษัทผลิตน้ำผึ้งในรูปของน้ำผึ้งครีมหรือน้ำผึ้งที่ตกผลึกแล้วจำหน่าย

2. ไขผึ้งหรือขี้ผึ้ง (wax)
เป็นสารที่มีคุณสมบัติทางเคมีเป็นไข ผลิตจากต่อมไข (wax gland) ซึ่งมีอยู่ 4 คู่ ซ่อนอยู่ภายในปล้องท้องด้านล่างของผึ้งงาน ผึ้งงานตัวเต็มวัยจะมีต่อมไขนี้เจริญดีสุดเมื่ออายุประมาณ 2 อาทิตย์ โดยที่มันจะผลิตไขผึ้งออกมาในรูปของเกล็ดบางๆสีขาวบริสุทธิ์เหมือนน้ำนม ผึ้งงานใช้เล็ดไขผึ้งนี้ในการสร้าง ซ่อมแซม และปิดฝาหลอดรวง โดยใช้ขาหลังคู่เกี่ยวเกล็ดไข และส่งผ่านไปยังขาคู่หน้าซึ่งป้อนเกล็ดไขสู่กรามผึ้ง ผึ้งงานใช้กรามเคี้ยวและตกแต่งเกล็ดไขในการสร้างรวงรัง ที่ผ่านมา ปริมาณความต้องการของไขผึ้งในตลาดโลกมีแต่จะสูงขึ้น และทำให้ราคาไขผึ้งสูงขึ้นไปด้วย ราคาของไขผึ้งจะสูงกว่าราคาของน้ำผึ้ง


3. เกสร (pollen)
เกสรดอกไม้จัดเป็นองค์ประกอบหนึ่งของเทียบยาไทยและยาจีนแผนโบราณมานานแล้ว ไม่มีแมลงชนิดใดที่มีสมรรถนะเก็บเกสรดอกไม้ได้ดีเท่าผึ้งและแมลงพวกภมร เพราะแมลงเหล่านี้ อาศัยเกสรเป็นอาหารที่ให้โปรตีน ควบคู่กับที่อาศัยน้ำหวานเป็นอาหารที่ให้พลังงาน ผึ้งงานมีทั้งระบบประสาท อวัยวะ และพฤติกรรมที่เก็บเกสรได้อย่างดี โดยที่เกสรที่ผึ้งงานเก็บจากดอกไม้ จะถูกปั้นเป็นก้อนกลม 2 ก้อน ห้อยติดมากับขาคู่หลังของผึ้งข้างละก้อน รูปแบบของเกสรดอกไม้ที่มีขายทั่วไปในตลาดโลก มักจะเป็นก้อนเกสรบรรจุอยู่ในตลับ หรือภาชนะบรรจุชนิดอื่นๆ โดยขายเป็นกรัมหรือเป็นปอนด์ ซึ่งผู้บริโภคอาจตักรับประทานโดยตรง หรือใช้ผสมกับอาหารอย่างอื่น บางทีก็มีขายในรูปแคปซูล แบบเม็ดยาหรือวิตามิน



4. โรยัลเยลลี่ (royal jelly)
คืออาหารสำหรับตัวอ่อนของผึ้ง ผลิตขึ้นในต่อมพี่เลี้ยง (Nurse glands) คู่หนึ่งซึ่งอยู่ในส่วนหัวของผึ้งงาน ต่อมนี้จะเจริญได้ดีในผึ้งงานตัวเต็มวัยที่มีอายุประมาณ 5-15 วัน ทำหน้าที่ผลิตสารที่มีสีขาวครีม ลักษณะคล้ายๆ กับครีมนม หรือ แป้งเปียกข้นๆ

ผึ้งงานในวัยที่เป็นผึ้งพี่เลี้ยง หลังจากกินและย่อยเกสรแล้ว จะผลิตสารนี้ในต่อมพี่เลี้ยงแล้วขับออกมาทางปาก ป้อนให้กับตัวอ่อนของผึ้งงานและตัวอ่อนผึ้งตัวผู้ ส่วนตัวอ่อนของผึ้งนางพญานั้นจะได้รับอาหารชนิดนี้อย่างมากจนเกินพอ ทำให้ตัวอ่อนของนางพญาผึ้งเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และทำให้พัฒนาทางสัณฐานวิทยาและทางสรีระผิดไป นอกจากนี้โรยัลแยลลี่ยังเป็นอาหารที่บรรดาผึ้งงานป้อนให้กับผึ้งนางพญาในตัวเต็มวัยด้วย เพราะเป็นอาหารที่อุดมด้วยโปรตีน และผึ้งนางพญาจำเป็นต้องได้รับอาหารโปรตีนตลอดเวลา เพื่อเสริมโปรตีนที่ต้องใช้ในการผลิตไข่

ผลการวิเคราะห์ทางเคมีของอาหารตัวอ่อน พบว่ามี ไวตามินบีอยู่ค่อนข้างสูง และมีวิตามินซีและไวตามินดีอยู่บ้างแต่ขลาดแคลนไวตามินอี ที่สำคัญคือ ไม่พบว่ามีสารใดที่มีคุณสมบัติรักษาโรค แต่พบว่าสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ได้บางชนิด จากการวิเคราะห์ดังกล่าวทำให้องค์การอาหารและยา รวมทั้งสมาคมแพทย์ของสหรัฐอเมริกา ไม่พร้อมที่จะรับว่าโรยัลแยลลี่มีคุณสมบัติเป็นยา หรือมีประสิทธิภาพในการรักษาโรค
อย่างไรก็ตาม มีผู้บริโภคในเอเชียบางประเทศ ยังคงเชื่อว่า โรยัลแยลลี่สามารถบำรุงกำลัง เป็นยาอายุวัฒนะ เป็นสารกระตุ้นสมรรถภาพทางเพศ สารเสริมความงาม ยับยั้งรอยเหี่ยวย่นขิงผิวหนัง ฯลฯ ทำให้ราคาที่จำหน่ายอยู่นั้นค่อนข้างสูงมากทีเดียว
5.นมน้ำผึ้ง (honey royal jelly)
เป็นผลิตภัณฑ์อาหารและยาชนิดใหม่ ที่ผสมโรยัลแยลลี่ ด้วยน้ำผึ้ง นมน้ำผึ้งเป็นอาหารที่มีคุณค่าสูง และราคาแพงมากในประเทศจีน คุณสมบัติของนมน้ำผึ้งมีลักษณะคล้ายครีม ผสมปนในน้ำผึ้ง มีกลิ่นหอมคล้ายน้ำผึ้ง และมีรสหวานแหลม

ประโยชน์จากน้ำผึ้ง
1.   น้ำผึ้งช่วยให้หายโรคท้องผูก ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่ เด็ก หรือคนชรา หากได้ลองรับประทานน้ำผึ้งกันเป็นประจำ จะส่งผลให้หายอาการท้องผูกได้
2.   โรคท้องอืดท้องเฟ้อ ถ้าอาหารไม่ย่อยหรือเป็นโรคกระเพาะ ให้ใช้น้ำผึ้ง 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำครึ่งถ้วย ดื่มหลังอาหารเป็นประจำ จะทำให้โรคที่เป็นอยู่หายได้
3.   ริดสีดวงทวาร ให้นำน้ำผึ้งผสมกระเทียม ทานวันละ 3 ครั้ง หลังรับประทานอาหาร จะช่วยบรรเทาริสซี่ได้

4.   ผู้ป่วยด้วยพิษสุรา เช่น ตับแข็งหรือโรคตับ ให้ใช้น้ำผึ้ง 1 ช้อนโต๊ะผสมน้ำครึ่งถ้วย ดื่มวันละ 3 ครั้ง เป็นประจำ หากคุณเป็นคอเหล้า ควรบริโภคน้ำผึ้ง 1-2 ช้อนโต๊ะ ก่อนนอน จะทำให้หลับสบายและป้องกันตับแข็ง เพราะน้ำผึ้งจะทำให้ตับทำลายพิษแอลกอฮอล์ได้เร็วและสมบรูณ์ขี้น
5.   เด็กที่อาเจียน การแหวะนม ใช้น้ำผึ้ง 1-2 หยด ผสมนมให้เด็กอ่อนทานเป็นประจำ จะช่วยให้เด็กแหวะนมน้อยลง
ประโยชน์จากนมผึ้ง
1.    เพิ่มพลังงานส่วนของร่างกาย ช่วยบำรุงสมอง ทำให้คลายเครียด และยังเป็นการป้องกันโรคความจำเสื่อมก่อนวัยชรา
2.   ช่วยการเผาผลาญไขมันและคอเลสเตอรอลในเลือด ช่วยให้ร่างกายมีกำลัง เพิ่มฮอร์โมนเพศ ช่วยบำรุงผิวพรรณและเล็บ แก้อาการอ่อนเพลีย ช่วยเพิ่มฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง
3.   แก้โรคขาดสารอาหารในเด็ก กระตุ้นการเจริญเติบโต
4.   ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโรคหวัด ไข้หวัด แพ้อากาศ ช่วยยับยั้งการเจิรญเติบโตของเซลล์มะเร็ง และบรรเทาอาการแพ้จากการฉายรังสี และเคมีบำบัดในการรักษาโรคมะเร็ง
5.   ช่วยให้ร่างกายไม่เสื่อมโทรมตามวัยและชะลอความแก่
6.   ช่วยป้องกันและรักษาโรคไขข้ออักเสบ
ประโยชน์จากเกสรผึ้ง
1.    เป็นอาหารที่ย่อยสลายง่าย และยังมีคุณค่าต่อการฟื้นฟูความสมดุลของร่างกาย ช่วยให้ร่างกายมีความแข็งแรง และกระปรี้กระเปร่าเหมือนเด็กหนุ่มเด็กสาวในผู้ที่สูงอายุ เป็นอาหารแทนผักในเด็กที่ไม่ชอบรับประทานผัก
2.   สามารถบำบัดโรคเหล่านี้ได้ชะงัด และบางอย่างหายขาดได้ เช่น ภูมิแพ้ ความดันโลหิตสูง โพรงจมูกอักเสบ รูมาติสซัม ปวดข้อ ปวดกระดูก รอบเดือนในสตรีไม่ปกติ หรือปวดรอบเดือน ชะลอการตกกระของผิวหนัง นอนไม่หลับ
3.   ช่วยบำรุงเส้นผมให้ดกดำและหงอกช้า ทำให้มีความทรงจำและสมาธิดีขึ้น สร้างความกระฉับกระเฉง ผู้ที่ไม่มีบุตรในวัยเจริญพันธุ์อาจมีบุตรได้ เพราะทำให้สตรีเหล่านั้นตกไข่ดีขึ้น และยังสร้างความแข็งแรงให้ตัวสเปิร์มและเพิ่มปริมาณตัวสเปิร์มในบุรุษเพศอีกด้วย บำรุงนักกีฬาและปลดเปลื้องความเหนื่อยอ่อนได้ง่าย สามารถบำรุงจิตใจสำหรับผู้ที่มีอาการทางจิตใจ ได้รับความกดดันจากความชรา หรือซึมเศร้า กลัดกลุ้ม คิดมาก
แหล่งอ้างอิง

1.    เรื่อง ผึ้ง สืบค้นข้อมูลจาก: http://www.agri.ubu.ac.th/information/insects/bee.html    
        (17 กันยายน 2553)

2.    เรื่อง ผึ้ง สืบค้นข้อมูลจาก: http://agriqua.doae.go.th/plantclinic/clinic/other/bee/bee3.htm (17 กันยายน 2553)


3.    ภาพผึ้งนางพญา สืบค้นข้อมูลจาก:  http://ubon.nfe.go.th/ubon_max/?name=knowledge&file=readknowledge&id=29 (17 กันยายน 2553)

4.    ภาพผึ้งงาน  สืบค้นข้อมูลจาก: http://www4.msu.ac.th/satit/studentProj/2547/pj102-2-2547/g06-Insect/nest2.html (17 กันยายน 2553)

5.    ภาพผึ้งโพรงฝรั่ง สืบค้นข้อมูลจาก:  http://student.nu.ac.th/weblearning/intro.html  (17 กันยายน 2553)

6.    ภาพ ผึ้งนางพญา  น้ำผึ้ง สืบค้นข้อมูลจาก: http://www.alisuasaming.com/Word/hml_word/Book/animalinquran12.html (17 กันยายน 2553)

7.    ภาพผึ้งหลวง สืบค้นข้อมูลจาก:
 http://learners.in.th/file/giobana/view/12574  (17 กันยายน 2553)

8.    ภาพผึ้งมิ้ม สืบค้นข้อมูลจาก:  
http://learners.in.th/file/giobana/view/12572 (17 กันยายน 2553)

9.    ภาพรวงผึ้ง สืบค้นข้อมูลจาก:
 http://www.tpahoney.com/honey%20comb.htm  (17 กันยายน 2553)

10.เกสรผึ้ง สืบค้นข้อมูลจาก:      http://www.gooherb.com/product.detail_275352_th_1462404 (17 กันยายน 2553)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น