วันพฤหัสบดีที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2553

บทความ

โทษของการสูบบุหรี่


        บุหรี่เป็นสารเสพติดประเภทหนึ่งซึ่งหาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาดและคุณเชื่อหรือไม่ว่า บุหรี่เป็นสาเหตุของการป่วยและเสียชีวิตอันดับต้นๆในประเทศไทย


สถิติผู้สูบบุหรี่ในประเทศไทย

        มีการประมาณกันว่าทั่วโลกมีผู้สูบบุหรี่ประมาณ 1,300 ล้านคน จำนวนผู้สูบบุหรี่สูงสุดอยู่ในกลุ่มประเทศแปซิฟิคตะวันตก ถ้าแนวโน้มของการสูบบุหรี่ยังคงเดิม คาดหมายว่าจะมีผู้สูบบุหรี่เสียชีวิตสูงถึง10 ล้านคนต่อปีในปี ค.ศ. 2030 มีผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ถึงประมาณ 650 ล้านคนโดยครึ่งหนึ่งเสียชีวิตในช่วงวัยกลางคน ผู้สูบบุหรี่ในแถบเอเชียจะเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 4 เท่ามากกว่าในแถบประเทศที่พัฒนาแล้ว

        สำหรับในประเทศไทย จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติปีพ.ศ. 2547 ในกลุ่มประชากรอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปพบว่า จำนวนผู้สูบบุหรี่เป็นประจำลดลงจาก 10.6 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2544 เป็น 9.6 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนจากประชากร เพศชายสูบร้อยละ 37.2 และเพศหญิงร้อยละ 2.1 คิดเป็นอัตราส่วนเพศชายต่อเพศหญิง 18:1โดยส่วนใหญ่ซึ่งเป็นจำนวน 4.66 ล้านคนเป็นกลุ่มอายุมากกว่า 40 ปี และเป็นกลุ่มเยาวชนอายุต่ำกว่า 24 ปีประมาณ 1.26 ล้านคน ทั้งนี้เป็นผู้จบการศึกษาระดับประถมศึกษาหรือต่ำกว่า 6.2 ล้านคนคิดเป็นร้อยละ 64 ผู้ที่มีอาชีพรับจ้างเกษตรกรรมและประมงมีอัตราการสูบบุหรี่ที่สูงสุดทั้งเพศหญิงและชาย โดยเมื่อรวมอาชีพคนงานรับจ้างเกษตร ประมง ผู้ปฏิบัติงานด้านความสามารถ ทางฝีมือและเครื่องจักรโรงงานรวม 7.12 ล้านคนคิดเป็นร้อยละ 74 ของผู้สูบบุหรี่ทั้งหมด

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีผู้สูบบุหรี่มากที่สุดคือ 3.5 ล้านคน ภาคกลาง 2.0 ล้านคน

ภาคเหนือ 1.89 ล้าน คน ภาคใต้ 1.36 ล้านคน และกรุงเทพฯ 858,420 คน ทั้งนี้เมื่อคิดเป็น

อัตราการสูบบุหรี่แล้วกรุงเทพฯมีอัตราการสูบบุหรี่ต่ำที่สุด (ร้อยละ 12.8 )ในขณะที่ภาคใต้

และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอัตราการสูบบุหรี่สูงสุด ( ร้อยละ 22.5 และ 22.2ตามลำดับ)

ผู้ที่สูบบุหรี่ประจำร้อยละ 72.9 สูบน้อยกว่า 10 มวนต่อวันและร้อยละ 24.8 สูบระหว่าง

11-24 มวนต่อวัน และร้อยละ 65.6 ของผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำติดบุหรี่ก่อนอายุ 19 ปี

โดยร้อยละ 92 ติดบุหรี่ก่อนอายุ 24 ปีและร้อยละ 8 ของผู้ติดบุหรี่ทั้งหมดติดหลังอายุ 25 ปี

สถิติ การเสียชีวิตของคนไทยจากการสูบบุหรี่

        จากการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของประชากร อายุ 15 ปีขึ้นไป พ.ศ.2549 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า

- บุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเสียชีวิตอันดับที่สามของคนไทย รองจากเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยและการดื่มสุรา

- คนไทยเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ปีละ 42,000 – 52,000 คน จาก

*มะเร็งปอด = 9,979 คน

*มะเร็งหลอดอาหาร = 2,396 คน

*มะเชิงชนิดอื่น ๆ = 3,944 คน

*โรคหัวใจและหลอดเลือด = 7,907 คน

*โรคถุงลมโป่งพอง = 10,427 คน

*โรคทางเดินหายใจอื่น ๆ = 2,400 คน

*โรคอื่น ๆ ที่เกิดจากการสูบบุหรี่ = 4,130 คน



- ผู้ที่เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ โดยเฉลี่ยอายุสั้นลง = 12 ปี

- โดยเฉลี่ยป่วยหนักเป็นเวลา 1.7 ปี ก่อนเสียชีวิต

วัยรุ่นกับบุหรี่

        ทั่วโลกกลุ่มวัยรุ่นอายุ 10 – 24 ปี มีประมาณ 1.8 พันล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้ร้อยละ 85 อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา เป็นเหยื่อของบริษัทบุหรี่

ข้อมูลจากการสำรวจทั่วโลก พบว่า “เยาวชนที่ติดบุหรี่ส่วนใหญ่จะเริ่มสูบก่อนอายุ 18 ปี”

“1 ใน 4 เริ่มทดลองสูบก่อนอายุ 10 ปี ยิ่งทดลองสูบเมื่ออายุน้อย ยิ่งมีโอกาสติดมากและเลิกยาก”ครึ่งหนึ่งของผู้ที่สูบบุหรี่ต่อไปโดยไม่หยุดจะเสียชีวิตก่อนวัยอันควรโดยเฉลี่ย 15 ปี

วัยรุ่นไทยกับการสูบบุหรี่

        จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ.2547 พบว่ามีเยาวชนอายุต่ำกว่า 24 ปี ที่สูบบุหรี่ทั้งแบบสูบประจำและแบบครั้งคราว รวม 1,705,526 คนโดย

เยาวชนที่มีอายุ 11 – 14 ปี สูบบุหรี่ 7,176 คน

เยาวชนที่มีอายุ 15 – 19 ปี สูบบุหรี่ 451,526 คน

เยาวชนที่มีอายุ 20 – 24 ปี สูบบุหรี่เป็นประจำ 1,246,785 คน

เยาวชนที่อายุต่ำกว่า 19 ปี ติดบุหรี่แล้วกว่า 458,740 คน

ตามสถิติ ประมาณหนึ่งในสามของเยาวชนที่สูบบุหรี่ต่อไปโดยไม่เลิกจะเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่

ผู้หญิงกับบุหรี่

        ความจริงที่ผู้หญิงต้องรู้มากกว่านั้น ก็คือ บุหรี่แต่ละมวนมีสารเคมีที่เป็นพิษมากกว่า 250 ชนิด ในจำนวนนี้มี สารก่อมะเร็งราว 50 ชนิด...

บุหรี่แต่ละมวนมีสารเคมีที่เป็นพิษมากกว่า 250 ชนิด ในจำนวนนี้มี สารก่อมะเร็งราว 50 ชนิด

บุหรี่ทำให้เลือดมาเลี้ยงผิวหนังน้อยลง โดยบุหรี่ 1 มวน ทำให้เส้นเลือดหดตัวไป 90 นาที และเลือดไปเลี้ยงที่ผิวลดลง 24 เปอร์เซ็นต์ สูบบุหรี่ 10 นาที ลดออกซิเจนที่ผิวหนัง 1 ชั่วโมง ถ้าสูบ 1 ซองต่อวัน เท่ากับผิวหนังขาดออกซิเจน 1 วัน

ผู้หญิงที่สูบบุหรี่ 20 มวนต่อวัน มีโอกาสเป็น โรคสะเก็ดเงิน มากกว่าหญิงที่ไม่สูบบุหรี่ 3.3 เท่า สูบบุหรี่มากกว่า 1 ซองต่อวัน เพิ่มอัตราเสี่ยงแผลหายช้า 3 เท่า

ถ้าสูบบุหรี่เกิน 50 ซองต่อปีจะมี รอยเหี่ยวย่นบนใบหน้า มากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ได้ถึง 4.7 เท่า โดยผู้หญิงจะเหี่ยวมากกว่าผู้ชายเป็นพิเศษ

อันตราย/พิษภัยของบุหรี่

บุหรี่กับความงาม

        รู้กันดีอยู่แล้วว่า บุหรี่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แล้วสำหรับสาวๆ คุณก็รู้ใช่ไหมว่าบุหรี่เป็นอันตรายต่อความงาม มาดูกันว่าทั้งควัน ทั้งสารนิโคติน มีผลต่อความงามแต่ละเรื่องของคุณอย่างไร

บุหรี่กับผิว ผิวพรรณที่คุณพยายามรักษา จะทา Whitening เข้าสปา อบไอน้ำ แช่น้ำนมเท่าไหร่ก็ไม่ช่วย ถ้าคุณยังสูบบุหรี่อยู่

•ผิวคุณจะเกิดริ้วรอยก่อนวัย เพราะบุหรี่ทำให้เส้นเลือดหดตัว ทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ส่งผลให้ทั้งเจ้าคอลลาเจน และอีลาสติน ซึ่งเป็นสองตัวสำคัญสำหรับผิวลดลง ตอนนี้คุณสาวๆ อาจไม่เห็นว่าริ้วรอยจะเกิดก่อนวัยตรงไหน ยังสวยปิ๊งเหมือนเดิมนี่นา จำไว้เลยว่าสารพิษในบุหรี่ ใช้เวลาถึง 10 ปีกว่าจะเห็นผล กว่าจะรู้ตัวก็แก้ไม่ทันแล้ว

•ใบหน้าโทรม ซีดเซียว ริ้วรอยรอบริมฝีปาก ปากดำคล้ำ ลักษณะทั้งหมดนั่นเกิดขึ้นกับคนสูบบุหรี่ มันทำให้เราเสียบุคลิกภาพ

•สาวๆ นักสูบขา ริ้วรอยไมได้เกิดบนหน้าเราเท่านั้น ทั้งลำคอ แขน ขาก็ไม่รอด ครีมบำรุงผิวดีแค่ไหน ก็เอาไม่อยู่ ถ้ายังไม่หยุดสูบ

•ผิวแห้งกร้านเพราะเจ้านิโคตินในบุหรี่ที่เป็นตัวดูดความชุ่มชื้นไปจากผิวเรา นอกจากนั้นแล้ว ความร้อนตอนจุดบุหรี่ยังตามมาทำร้ายริมฝีปาก และทิ้งรอยร่องแก้มเป็นของแถมด้วย

บุหรี่กับเล็บ

        ถ้าตาเป็นตัวบอกความในใจ เล็บก็เป็นตัวบ่งบอกสุขภาพ แล้วจะยอมให้บุหรี่มาทำร้ายคุณทำไมแค่ควันบุหรี่ทำให้เล็บเหลืองก็แย่แล้ว ยังมีสารนิโคตินมาเสริมให้มันร้ายเข้าไปอีก

•บุหรี่ทำให้ออกซิเจนในร่างกายคุณลดลง ส่งผลให้เล็บไม่แข็งแรง ลอก และฉีกง่าย

•เมื่อเล็บฉีก จมูกเล็บลอก การป้องกันเล็บจากเชื้อโรคโดยเฉพาะเชื้อราก็ลดลง

•ความร้อนจากบุหรี่มีผลทำให้ผิวหนังบริเวณนิ้ว แห้งและแตก

บุหรี่กับเส้นผม

        ควันจากบุหรี่ไม่ได้เพียงแค่ทำลายปอดของเราเท่านั้น แถมส่วนแรกๆ ที่ควันบุหรี่ทำร้าย เป็นสิ่งที่ผู้หญิงส่วนใหญ่รักมาก

•เส้นผมคุณจะมีกลิ่นบุหรี่ติดตลอดเวลา

•เส้นผมเปราะบาง ดูไม่มีชีวิตชีวา เพราะนิโคตินในบุหรี่จะทำให้เส้นเลือดหดตัว เป็นเหตุให้ ออกซิเจนไปเลี้ยงที่หนังศีรษะไม่พอ แล้วเส้นผมจะแข็งแรงได้ยังไงกัน

•คุณอาจต้องเปลี่ยนทรงผม แบบไม่ได้ตั้งตัว เพราะว่าผมคุณติดไฟขณะที่คุณกำลังจุดบุหรี่ มันไม่สนุกเลย

•คนสูบบุหรี่มีอัตราการร่วงของเส้นผมเร็วเร็วกว่าคนที่ไม่สูบ ทำให้เกิดปัญหาศีรษะล้าน หรือผมบางเร็ว เพราะบุหรี่มีผลต่อระบบหมุนเวียนโลหิต ที่ไปเลี้ยงเซลล์ผมที่หนังศีรษะ

•สุดท้ายระวังผมจะหงอกก่อนวัย ถ้าคุณยังสูบบุหรี่อยู่

บุหรี่ทำร้ายฟัน ส่งผลผลร้ายต่อเหงือกและฟัน อันตรายจากบุหรี่อีกอย่างที่สาวๆ ไม่ควรมองข้าม

•คนสูบบุหรี่มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งในช่องปากมากกว่าผู้ไม่สูบถึง 6 เท่า!!!

•นอกจากบุหรี่ทำให้คุณๆ มีกลิ่นปาก ฟันเป็นคราบเหลืองแล้ว ควันบุหรี่ก็เป็นสาเหตุของโรคฟันอีกด้วย

บุหรี่กับโรคในช่องปาก

        สูบด้วย ดื่มด้วย เสี่ยงมะเร็งช่องปาก 6-15 เท่า

ผู้สูบบุหรี่ จะมีโอกาสเป็นโรคเหงือกอักเสบเนื้อตายแบบเฉียบพลันมากกว่าปกติ ทั้งๆ ที่ดูแลช่องปากตามมาตรฐานปกติ และเมื่อเป็นแล้ว อาการของโรคก็จะรุนแรงกว่าเช่นกัน

น้ำลาย บุหรี่ส่งผลให้ปริมาณการไหลของน้ำลายลดลง และน้ำลายมีค่าความเป็นกรดเพิ่มขึ้นนอกจากนั้นยังพบว่า ความสามารถต้านทานกรดของน้ำลายก็ลดลงด้วย

ฟันผุ ผู้ที่สูบบุหรี่จะมีอัตราการสูญเสียฟันธรรมชาติสูงกว่าปกติ และในวัยรุ่นที่สูบบุหรี่ ก็มีความสัมพันธ์กับการมีจำนวนฟันผุสูงขึ้นด้วย

การรับรสและกลิ่น การสูบบุหรี่ทำให้ความสามารถในการรับรสและกลิ่นเลวลง และยังเป็นสาเหตุสำคัญของการมีกลิ่นปากอีกด้วย

การหายของแผล การสูบบุหรี่ ทำให้แผลในช่องปากหายช้า รวมถึงการสมานแผลภายหลังการรักษาทางทันตกรรม เช่น การถอนฟัน และการเกลารากฟัน เพราะควันบุหรี่ทำให้ปริมาณการไหลเวียนโลหิต และปริมาณสารเคมีที่สำคัญต่างๆ ในเลือดลดลง

โรคปริทันต์ การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญอย่างยิ่ง ในการเกิดโรคปริทันต์ โดยผู้สูบบุหรี่มักจะเป็นโรคปริทันต์รุนแรงที่รากผันด้านเพดานปาก อาจมีหนองหรือความผิดปกติอื่นๆ ได้มาก แม้จะไม่มีแผ่นครบจุลินทรีย์หรือหินปูนเลยก็ตาม

ปฏิกิริยาต่อภูมิคุ้นกันโรคของร่างกาย บุหรี่ทำให้เม็ดเลือดขาวบางประเภท ซึ่งมีหน้าที่ต่อต้านเชื้อโรคลดลงและทำให้อัตราการทำลายเชื้อบางชนิดของร่างกายลดลงเช่น อัตราการทำลายเชื้อ Staphylococcus autrus ลดลงจาด 3.1 ตัวต่อนาทีเหลือเพียง 1.3 ตัวต่อนาทีและยังพบปริมาณเชื้อโรคบางชนิดสะสมมากขึ้นด้วย

มะเร็งช่องปาก ควันบุหรี่เป็นสารก่อมะเร็งโดยตรงผู้ที่สูบบุหรี่แต่ไม่มีประวัติการดื่มแอลกอฮอล์ จะมีโอกาสเป็นมะเร็งในช่องปากมากขึ้น 2-4 เท่า แต่ถ้ามีประวัติสูบบุหรี่ร่วมกับดื่มแอลกอฮอล์จะมีโอกาเป็นมะเร็งในช่องปากมากขึ้น ตั้งแต่ 6-15 เท่าของคนทั่วไป

ความเสี่ยงจากบุหรี่

        เสี่ยงมะเร็งปอด เป็นโรคแรกที่ได้รับการประกาศแล้วว่าเกี่ยวข้องกับการสุบบุหรี่เมื่อ 40 กว่าปีมาแล้ว เนื่องจากช่วงนั้นประเทศอังกฤษพบว่าคนเป็นมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น จึงมีการศึกษาวิจัยว่าอะไรเป็นสาเหตุ โดยความสงสัยเบื้องต้นส่วนใหญ่คิดว่ามาจากมลพิษในอากาศจากการที่มีรถยนต์วิ่งมากขึ้น แต่ผลวิจัยกลับพลิกล็อกที่พบว่ามะเร็งปอดสัมพันธ์กับการสูบบุหรี่ไม่ใช่มลพิษในอากาศ

โดยร้อยละ 80 - 90 ของผู้ที่เป็นมะเร็งปอดมาจากการการสูบบุหรี่และได้รับควันบุหรีมือสอง ผลการวิจัยต่อๆ มา พบว่า ในควันบุหรี่มีสารก่อมะเร็งจำนวนมาก มากที่สุดกว่าสารก่อมะเร็งที่มนุษย์จะได้รับจากแหล่งอื่นๆ

เสี่ยงโรคหัวใจ เป็นอีกสาเหตุหนึ่งของการเสียชีวิตมากที่สุดของคนสูบบุหรี่ สารพิษมากมายในควันบุหรี่จะทำให้เกิดความผิดปกติของระดับไขมันในเลือด โดยทำให้ไขมัน ชนิดดีลดลง ไขมันชนิดไม่ดีเพิ่มขึ้น สารพิษเหล่านี้ยังทำให้เกล็ดเลือดเกาะตัวกันง่ายขึ้น ทำให้เลือดมีความหนืดเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันสารพิษในควันบุหรี่ยังทำให้เกิดอนุมูลอิสระจำนวนมาก ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบของผนังหลอดเลือด เป็นเหตุให้เกล็ดเลือดและเม็ดเลือดขาวมาเกาะที่บริเวณที่อักเสบนี้

เสี่ยงโรคถุงลมโป่งพอง เป็นโรคที่คนสูบบุหรี่เป็นมากที่สุด เพราะปอดเป็นอวัยวะที่ได้รับควันบุหรี่มากที่สุด ทุกครั้งที่สูบบุหรี่ สารพิษจากควันบุหรี่จะกระทบและก่อให้เกิดการอักเสบแก่อวัยวะต่างๆ ของหลอดลมและเนื้อปอด เนื้อเยื่อปอดส่วนปลายที่สุดเป็นถุงลมขนาดเล็กที่จะค่อยๆ ถูกทำลายโดยควันบุหรี่ แต่เนื่องจากปอดมีสมรรถภาพในการรองรับการใช้งานมากกว่าปกติถึง 100 เปอร์เซ็นต์ อาการเหนื่อยจึงเกิดขึ้นหลังจากเนื้อปอดถูกทำลายไปเกินกว่าครึ่ง

เสี่ยงอัมพาต ข่าวของชาย เมืองสิงห์ ที่ป่วยเป็นอัมพฤกษ์ แขนขาข้างขวาไม่มีแรงเกิดจากการสูบบุหรี่ ข่าวยังระบุด้วยว่าเส้นเลือดในท้องและที่ขาซ้ายของคุณชายก็ตีบด้วย การตีบของเส้นเลือดในสมองเป็นผลจากสารพิษในควันบุหรี่ เช่นเดียวกับการตีบของเส้นเลือดหัวใจ ถ้าผู้ป่วยรู้ตัวเร็ว เส้นเลือดในสมองยังตีบแต่ยังไม่ถึงตัน หรือตันแต่เส้นเลือดขนาดเล็ก ผู้ป่วยก็จะเป็นอัมพฤกษ์ แต่หากตันที่เส้นเลือดขนาดใหญ่ก็จะเป็นอัมพาต

เสี่ยงเกิดมะเร็งในที่ต่างๆ ทุกครั้งที่คุณสูบบุหรี่หรือคนที่ไม่สูบบุหรี่ แต่หายใจเอาควันบุหรี่เข้าสู่ปอด สารก่อมะเร็งนับสิบชนิดในควันบุหรี่จะสัมผัสกับอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย ที่สัมผัสโดยตรงด้วยการหายใจ คือ ช่องปาก ลำคอ กล่องเสียง หลอดลม และปอด ที่สัมผัสผ่านกระแสเลือด คือ เม็ดเลือดขาว ตับอ่อน ปากมดลูก ที่สัมผัสโดยสารก่อมะเร็งถูกขับออกมาทางปัสสาวะ คือ ไตและกระเพาะปัสสาวะ รวมแล้วควันบุหรี่ทำให้เกิดมะเร็งถึงสิบอวัยวะด้วยกัน

ควันบุหรี่มือสองทำร้ายเด็ก ควันบุหรี่มือสองประกอบด้วยสารพิษและสารก่อมะเร็งเช่นเดียวกับที่ผู้สูบบุหรี่สูบเข้าสู่ร่างกาย และเป็นอันตรายแก่เด็กมากกว่าผู้ใหญ่ เพราะเนื้อเยื่อต่างๆ ของเด็กยังอยู่ในระหว่างการเจริญเติบโต โดยเฉพาะเด็กเล็กจะหายใจเร็วกว่าผู้ใหญ่มาก สารในควันบุหรี่จึงเข้าสู่ร่างกายเด็กได้ง่าย ส่งผลให้เด็กเป็นหวัดบ่อย หลอดลมอักเสบจนถึงปอดบวม เกิดหูน้ำหนวก การเจริญเติบโตของปอดเกิดได้ไม่เต็มที่ และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดไหลตาย

เสี่ยงแก่ก่อนวัย เมื่อสารพิษในควันบุหรี่ถูกดูดซึมผ่านปอดเข้าสู่กระแสเลือด สารพิษที่อยู่ในเลือดเหล่านี้จะไหลเวียนไปยังทุกเนื้อเยื่อ ทุกอวัยวะของร่างกาย ก่อให้เกิดอนุมูลอิสระมากมาย ทำให้เกิดการอักเสบและอุดตันของเส้นเลือดฝอยในอวัยวะต่างๆ ทำให้เลือดไปเลี้ยงได้น้อยลง

ทั้งยังไปทำลายคอลลาเจนที่ปรากฏชัดที่สุด คือ ใต้ผิวหนัง ทำให้ผิวหนังแห้งกร้านและเหี่ยวย่นเร็วขึ้น จะเห็นว่าคนที่สูบบุหรี่นานๆ มักแก่กว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ประมาณ 10 ปี

เสี่ยงเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เพราะสารพิษในควันบุหรี่ทำให้เกิดการตีบตันของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะเพศน้อยลง นอกจากนี้ ประสาทที่ควบคุมเกี่ยวกับการแข็งตัวของอวัยวะเพศก็พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย

การเลิกสูบบุหรี่ได้จึงเป็นประโยชน์มหาศาลต่อสุขภาพร่างกาย รวมทั้งหัวใจของคนเรา แม้ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่มีหลายหนทางที่จะช่วยให้เลิกได้หากตั้งใจจริง

วิธีเลิกบุหรี่

หากคุณอยากเป็น 1 ใน 200,000 คน ที่เลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จ ลองปฏิบัติตามวิธีง่าย ๆ เรามีคำแนะนำค่ะ

1. ขอคำปรึกษา เพื่อให้คุณมีแนวทางในการเลิกสูบบุหรี่ คุณอาจโทรศัพท์เพื่อขอคำแนะนำได้ที่ หมายเลข 1600 หรือขอคำปรึกษาจากคนรู้จักที่สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จมาแล้ว

2. หากำลังใจ คุณควรบอกให้คนใกล้ชิดได้ทราบถึงความตั้งใจที่จะเลิกบุหรี่ เพราะกำลังใจจากคนรอบข้างจะช่วยให้คุณมีความพยายามที่จะเลิกสูบบุรี่ให้ได้ เพื่อคนที่คุณรัก

3. เป้าหมายอยู่ข้างหน้า คุณควรวางแผนการปฏิบัติตัว ในระหว่างการเลิกสูบบุหรี่ โดยกำหนดวันที่จะลงมือเลิกสูบบุหรี่ อาจเลือกวันสำคัญต่างๆ ของครอบครัว เช่น วันเกิดตัวเอง วันครบรอบแต่งงาน หรือวันเกิดลูก แต่ไม่ควรกำหนดวันที่ห่างไกลเกินไป เพราะอาจทำให้หมดไฟเสียก่อน

4. ไม่รอช้า...ลงมือ คุณควรเตรียมตัวให้พร้อม ด้วยการทิ้งอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ให้หมด เตรียมผลไม้หรือขนมขบเคี้ยวที่ไม่หวานหรือไม่ทำให้อ้วนไว ้เพื่อช่วยในการลดความอยากสูบบุหรี่ รวมถึงปรับเปลี่ยนกิจกรรมที่คุณมักทำร่วมกับการสูบบุหรี่ เช่น อ่านหนังสือแทนการสูบบุหรี่ระหว่างเข้าห้องน้ำ ลุกจากโต๊ะทันทีที่กินอาหารเสร็จ หรือแปรงฟันทุกครั้งหลังกินอาหาร

5. ถือคำมั่นไม่หวั่นไหว เมื่อถึงวันลงมือ จงตื่นนอนด้วยความสดใส บอกตัวเองว่ากำลังทำสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเองและคนใกล้ชิด เมื่ออยากสูบบุหรี่ก็ขอให้ทบทวนถึงเหตุผลที่ทำให้คุณตัดสินใจเลิกสูบบุหรี่ ปรับเปลี่ยนอิริยาบถ ล้างหน้า ดื่มน้ำ อยู่ใกล้ชิดกับคนที่ไม่สูบบุหรี่ เล่นกับลูก หรือสัตว์เลี้ยงให้มากขึ้น ก็จะช่วยให้ผ่านพ้นความอยากสูบบุหรี่ได้ง่ายขึ้น

6. ห่างไกลสิ่งกระตุ้น ในระหว่างนี้ขอให้คุณหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่จะทำให้คุณอยากสูบบุหรี่ เช่น ถ้าเคยดื่มกาแฟ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วสูบบุหรี่ไปด้วย ก็ควรงดดื่มในช่วงนี้ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการอยู่ท่ามกลางคนสูบบุหรี่ด้วย

7. ไม่หมกมุ่นความเครียด เมื่อรู้สึกเครียดให้หยุดพักสมอง คลายเครียดสักครู่ ด้วยการพูดคุยกับคนอื่น หรืออ่านหนังสือการ์ตูนขำขัน พึงระลึกเสมอว่า มีคนไม่สูบบุหรี่อีกมากที่คลายเครียดได้ โดยไม่ต้องสูบบุหรี่

8. เจียดเวลาออกกำลังกาย คุณควรจัดเวลาออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 15-20 นาที เพราะนอกจากจะเป็นการควบคุมน้ำหนักที่อาจเพิ่มขึ้นแล้ว ยังทำให้สมองปลอดโปร่ง เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของหัวใจและปอด หากไม่มีเวลาออกกำลังกาย ควรหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องทุ่นแรงต่าง ๆ เช่น เดินขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟต์ เพื่อที่คุณจะได้ออกกำลังกายบ้าง

9. ไม่ท้าทายบุหรี่ อย่าคิดว่าลองสูบบุหรี่เป็นครั้งคราวคงไม่เป็นไร เพราะการทดลองสูบบุหรี่เพียงมวนเดียวอาจหมายถึงการหวนคืนไปสู่ความเคยชินเก่า ๆ อีก คุณมาไกลมากแล้ว อย่าปล่อยให้ตัวเองถอยหลังลงคลองอีกเลย

10. หากต้องเริ่มต้นใหม่อีกอย่าท้อแท้ ถ้าหันกลับไปสูบบุหรี่อีก นั่นไม่ได้หมายความว่าโลกได้ล่มสลาย หรือคุณเป็นคนล้มเหลว อย่างน้อยคุณก็ได้เรียนรู้ที่จะปรับปรุงตัวเองในคราวต่อไป ขอเพียงพยายามต่อไป ไม่มีคำว่าสายสำหรับการเริ่มต้น

ประโยชน์ของการเลิกบุหรี่

การเริ่มต้น
ใครๆ ก็รู้ว่าการเลิกสูบบุหรี่นั้นมีแต่ได้ไม่มีเสีย เพราะนอกจากทำให้สุขภาพดีขึ้น โรคภัยไม่มากล้ำกราย ทำร้ายตัวผู้สูบเองและคนข้างเคียงแล้ว ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมโรคและการป้องกันในสหรัฐอเมริกายังแจกแจงลงไปในรายละเอียดให้เห็นกันในแต่ละเวลานาทีเลยว่า หลังเลิกสูบบุหรี่กี่นาที่ กี่ชั่วโมงแล้วร่างกายจะเป็นอย่างไรบ้าง

คุณจำเป็นต้องลด ละ เลิกเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์กระตุ้นหรือระงับประสาท เช่น สุรา ชา กาแฟ น้ำอัดลม เพราะจะทำให้เกิดความกระวนกระวายใจ เนื่องจากเครื่องดื่มเหล่านี้มีสารกระตุ้นให้อยากบุหรี่ อีกวิธีหนึ่งที่ช่วยได้ คือ ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6 - 8 แก้ว เพราะน้ำจะช่วยกำจัดนิโคตินออกจากร่างกายได้ และควรดื่มตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้า หลังอาหารทุกมื้อ ช่วงระหว่างมื้อ และก่อนนอนด้วย

นอกจากนี้ควรทานอาหารที่ถูกหลักโภชนาการครบทั้ง 5 หมู่ในจำนวนที่อิ่มพอดี ถ้ากระวนกระวายใจในเรื่องอาหาร อาจกินหมากฝรั่งหมากหอม ยาอมที่ไม่มีรสหวาน เพื่อลดอาการเปรี้ยวปากอยากสูบบุหรี่ เป็นต้น

เมื่อได้หยุดสูบบุหรี่แล้วร่างกายจะมีความเปลี่ยนแปลงตามมาเป็นระยะ และต่อเนื่องไปอีกเป็นสิบปี เริ่มจาก 20 นาทีแรกหลังเลิกสูบบุหรี่ พบว่าอัตราการเต้นของหัวใจลดลง หัวใจไม่ทำงานหนักมาก อัตราหายใจไม่ถี่เพราะปอดทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น ต่อมาระดับคาร์บอนมอนอกไซด์ในเลือดลมลดลงถึงระดับปกติ พอหยุดบุหรี่ไป 2 สัปดาห์ถึง 3 เดือน จะช่วยให้ความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจวายน้อยลง ปอดเริ่มกลับมาทำงานได้เกือบ 100%

หลังอำลาม่านควันไปแล้ว 1 - 9 เดือน สิ่งที่จะได้รับอย่างเห็นผลดี คือ อาการไอหรือหายใจขัดจะลดลงแน่นอน และหากเลิกสูบบุหรี่ได้เกิน 1 ปี ปัจจัยเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจลดลงครึ่งหนึ่ง เมื่อเทียบกับผู้ที่ยังนิยมเป็นสิงห์อมควันอยู่

เมื่อเข้าสู่ปีที่ 5 ของการเลิกขาดจากบุหรี่ อัตราเสี่ยงของการเป็นโรคหลอดเลือดตีบจะลดลงไปอีก หากอำลาวงการบุหรี่ได้ถึง 10 ปี อัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งปอดจะลดลงประมาณครึ่งหนึ่ง เมื่อเทียบกับคนที่ยังสูบบุหรี่อยู่ ส่วนปัจจัยเสี่ยงของการเป็นมะเร็งในช่องปาก ลำคอ หลอดอาหาร กระเพาะปัสสาวะ ไต และตับอ่อนลดลง จนกระทั่งย่างเข้าสู่ปีที่ 15 ของการเลิกสูบนั่นแล้วถึงจะทำให้ปัจจัยเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจกลับเข้าสู่ภาวะปกติเช่นเดียวกับคนที่ไม่ได้สูบบุหรี่เลย

จะเห็นได้ว่ากว่าร่างกายจะกลับมาเป็นปกติต้องใช้เวลานานถึง 15 ปี ทั้งที่การติดบุหรี่นั้นใช้เวลาไม่นาน มีหลายคนที่ตั้งใจเลิกบุหรี่ แต่กลับยกธงขาว ยอมแพ้ศิโรราบให้กับอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้น เพราะด้วยเหตุผลเดียว คือ ทรมานสุดๆ

ขอให้ย้ำกับตัวเองเสมอว่าหากตั้งใจจริงที่จะมุ่งสู่ชีวิตใหม่ รับรองว่าคุณสามารถผ่านพ้นช่วงนี้ไปได้แน่นอน เพราะตอนเริ่มสูบยังสูบจนติดง่ายๆ เลย ถึงคราวจะเลิกสูบจงอย่าคิดว่าเป็นเรื่องลำบากยากเย็น เพราะไม่มีสิ่งใดยากเกินใจของตนเอง ทั้งหลายทั้งปวงอยู่ที่จิตใจของคุณเอง

แหล่งอ้างอิง

1. เรื่อง สถิติ การเสียชีวิตของคนไทยจากการสูบบุหรี่ สืบค้นข้อมูลจาก:
http://ecigarette.tarad.com/webboard-th (23 กันยายน 2553)

2. ผู้แต่ง สสส.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เรื่องบุหรี่กับความงาม สืบค้นข้อมูลจาก: http://www.thaihealth.or.th/node/15931 (23 กันยายน 2553)

3. ผู้แต่ง สสส.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เรื่องผู้หญิงกับบุหรี่ สืบค้นข้อมูลจาก:http://www.thaihealth.or.th/node/15551 (23 กันยายน 2553)

4. ผู้แต่ง สสส.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เรื่องบุหรี่กับโรคในช่องปาก สืบค้นข้อมูลจาก:http://www.thaihealth.or.th/node/14300 (23 กันยายน 2553)

5. ผู้แต่ง สสส.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เรื่องวิธีเลิกบุหรี่
สืบค้นข้อมูลจาก:http://www.thaihealth.or.th/node/4331 (23 กันยายน 2553)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น